การขยายพันธุ์

         ยางพาราสามารถทำการขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ใช้วิธีการติดตาเขียว ติดตาสีน้ำตาล เป็นต้น แต่การขยายด้วยเมล็ด ปัจจุบันในประเทศไทยไม่นิยมการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ทั้งนี้เพราะไม่มีสวนเก็บเมล็ดโดยตรง  และเมล็ดยางพาราที่นำไปปลูกจะมีการกลายพันธุ์มาก แต่การใช้เมล็ดขยายพันธุ์ มักจะนำไปใช้เพาะต้นกล้าเพื่อใช้ทำเป็นต้นตอสำหรับติดตาเป็นส่วนใหญ่  ส่วนการขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตา จะแบ่งออกเป็นการติดตาเขียว และการติดตาสีน้ำตาล แต่ส่วนใหญ่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการติดตาเขียวมากกว่า เพราะทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว มีเปอร์เซ็นต์การติดสูงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการขยายพันธุ์วิธีดังกล่าวมีวิธีการดำเนินงาน 3 ขั้นตอนคือ

1. การสร้างแปลงกล้ายาง
         วัสดุที่จะใช้ปลูกแปลงกล้ายาง อาจใช้ส่วนประกอบเพียง 3 ชนิด คือ เมล็ดสด เมล็ดงอก และต้นกล้า 2 ใบ  จากการศึกษาเรื่องการเลือกใช้ส่วนประกอบของยางพาราสำหรับปลูกทำแปลงกล้ายางนั้น พบว่าการใช้เมล็ดสดในการปลูกจะดีที่สุดเนื่องจากต้นกล้ายางที่ได้  จะโตเร็วและแข็งแรง  มีระบบรากดี  และเป็นการประหยัดงานและเวลา ส่วนการปลูกด้วยต้นกล้า 2 ใบ นั้นต้นกล้าจะตายเป็นจำนวนมาก และมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ดถึง 2 เท่า ในช่วงระยะ เวลา 6 เดือน ซึ่งกล้ายาง 2 ใบนั้นควรใช้นำไปปลูกกรณีที่หาเมล็ดไม่ได้เท่านั้น  สำหรับขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการสร้างแปลงและวิธีการปลูกตลอดจนการดูแลรักษา  มีขั้นตอนดังต่อไปนี้                            
         1. การเลือกพื้นที่ในการปลูก ควรเลือกสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ราบ ดินร่วนเพราะจะมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำดี อยู่ใกล้แหล่งน้ำและการคมนาคมสะดวก                                    
         2. การเตรียมดิน ควรทำการไถพลิกดิน 2 ครั้ง หลังจากนั้นทำการไถพรวนอีก 1 ถึง 2 ครั้ง แล้วแต่ความเหมาะสมเพื่อให้พื้นที่มีความเรียบสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันควรเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงปลูกให้หมดในการไถพรวนครั้งสุดท้าย และควรหว่านปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 100 กิโลกรัม และแมกนีเซียมไลปัส-โตน 40 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ เนื่องจากดินในประเทศไทย หากปลูกกล้ายางพาราหลายๆ ครั้งซ้ำกันในที่เดียวกัน กล้ายางมักจะแสดงอาการขาดธาตุแมกนีเซียม  และแผ่นใบตรงกลางระหว่างเส้นใบจะมีสีซีดเหลืองหรือขาว โดยจะแสดงอาการหลังจากยางงอกแล้วประมาณ 2 ถึง 3 เดือน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยแมกนีเซียมไลมัสโตนจึงมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะในแปลงกล้าที่เกิดอาการขาดธาตุแมกนีเซียมแล้วก่อนจะทำใหม่ต้องใส่แมกนีเซียมก่อนทุกครั้ง                                   
         3. การวางแผนผังแปลงกล้า แปลงกล้ายางแต่ละแปลงย่อย  ไม่ควรมีพื้นที่เกิน 1 ไร่ หากเป็นการให้น้ำแบบระบบสปริงเกอร์ควรจัดขนาดแปลงเข้ากับระบบน้ำ และรอบแปลงแต่ละแปลงควรวางแนวขุดคูระบายน้ำ และหากเป็นพื้นที่ลาดชัน ควรวางแถวปลูกขวางแนวลาดชัน และควรจะยกร่องปลูกเป็นแถวคู่ เพื่อป้องกันน้ำชะเมล็ด
         4. วิธีการปลูก มีอยู่ 3 วิธีคือ                           

  • การปลูกด้วยเมล็ดสด  เริ่มตั้งแต่การวางแนวปลูก  โดยปักไม้ชะมบไว้ที่หัวและท้ายแปลง ในระยะ 30 x 60 เซนติเมตร ในลักษณะเป็นแนวยาวแล้วขึงเชือกระหว่างไม้ชะมบกับหัวท้ายแปลง ซึ่งจะเป็นแนวสำหรับเรียงเมล็ดสด จากนั้นใช้จอบลากเป็นร่องลึก ประมาณ 5 เซนติเมตรตามแนวเชือก  แล้วนำเมล็ดสดมาวางเรียง  โดยจำนวนเมล็ดที่เรียงนั้นขึ้นอยู่กับความงอกของเมล็ด ถ้ามีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงให้เรียงเมล็ดห่างปกติในช่วงระยะ 1 เมตร  จะวางเรียงประมาณ 18 ถึง 24 เมล็ด ในการเรียงนั้นให้ด้านแบนของเมล็ดคว่ำลง   หลังจากนั้นทำการกลบดิน  ซึ่งในการปลูกแต่ละแปลงนั้นจะใช้เมล็ดประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่
  • การปลูกด้วยเมล็ดงอก  เริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ดยางในแปลงเพาะเมล็ด โดยยกร่องกว้าง 1 เมตร 20 เซนติเมตร  ส่วนความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับความต้องการ  จากนั้นใช้ทรายหรือขี้เลื่อยเก่าๆ กลบบนแปลงเพาะแล้วเกลี่ยให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม  หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์เมล็ดก็จะงอก  ทำการเก็บเมล็ดที่งอกไปปลูกได้ทุกวัน (ส่วนเมล็ดที่งอกหลังจาก 15 วัน จะต้องคัดทิ้งหมดเพราะจะได้ต้นกล้ายางที่ไม่แข็งแรง) วิธีการปลูกเริ่มตั้งแต่การวางแนวปักไม้ชะมบที่หัวและท้ายแปลงที่ระยะ 30 x 60 เซนติเมตร แล้วขึงเชือกทำเครื่องหมายระยะต้นทุกระยะ 25 เซนติเมตร นำเมล็ดมาปลูกโดยใช้ไม้เสี้ยมปลายแหลมเจาะดินให้เป็นหลุมลึกประมาณ 3 เซนติเมตร บริเวณตำแหน่งหลุมที่จะปลูก และวางเมล็ดงอกโดยให้วางด้านแบนของเมล็ดคว่ำลงหรือวางด้านที่เป็นปลายรากลง จากนั้นกลบดินพอมิด
  • การปลูกด้วยกล้ายาง 2 ใบ   เริ่มตั้งแต่การจัดวางแนวปักไม้ชะมบไว้ที่หัวแถวที่ระยะ 30 x 60 เซนติเมตร แล้วขึงเชือกซึ่งได้ทำเครื่องหมายกำหนดระยะต้นไว้แล้วทุกระยะ 25 เซนติเมตร  จากนั้นใช้ไม้ที่เสี้ยมปลายแหลมหรือเหล็กปลายแหลมนำมาเจาะดินให้เป็นหลุมขนาดพอดีกับความยาวของราก และนำต้นกล้ายาง 2 ใบที่ได้คัด เลือกต้นที่แข็งแรง ใบแก่และรากไม่คดงอ นำมาตัดรากให้เหลือประมาณ 20 เซนติเมตร และตัดใบออกหมดเพื่อลดการคายน้ำหลังจากที่ทำการปลูก  หลังจากนั้นต้องกดดินรอบโคนต้นให้แน่น

         5. การกำจัดวัชพืช จะต้องมีการกำจัดวัชพืชจำนวน 4 ครั้ง  ดังรายละเอียดดังนี้

  • ครั้งที่ 1  การกำจัดวัชพืชก่อนงอก   ทำการพ่นสารเคมีก่อนและหลังการปลูก  โดยใช้สารเคมีไลนูรอนในอัตรา 250 กรัมต่อน้ำ 80 ลิตร หรือสารเคมีไดยูรอน ในอัตรา 120 กรัมต่อน้ำ 50 ลิตรต่อไร่
  • ครั้งที่ 2 การกำจัดวัชพืชหลังจากการปลูก 6 ถึง 8 สัปดาห์  จะต้องถางวัชพืชออกให้หมดก่อน หลังจากนั้นจะพ่นตามด้วยสารเคมีไดยูรอน ในอัตรา 120 กรัมต่อน้ำ 50 ลิตรต่อไร่
  • ครั้งที่ 3 การกำจัดวัชพืชเมื่อต้นยางพารา มีอายุ 4 เดือน จะต้องทำการถางวัชพืชออกให้หมดก่อน  จากนั้นจะพ่นตามด้วยสารเคมีไดยูรอน ในอัตรา 120 กรัมต่อน้ำ 50 ลิตรต่อไร่
  • ครั้งที่ 4 การกำจัดวัชพืชต้นฤดูฝนในระยะติดตา  โดยการใช้สารเคมีพาราควัท ในอัตรา 6,000 กรัมต่อน้ำ 50 ถึง 60 ลิตรต่อไร่

         6. การใส่ปุ๋ย เมื่อต้นกล้ายางเจริญเติบโตสักระยะหนึ่งแล้ว  ควรใส่ปุ๋ยเป็นระยะเพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและสมบูรณ์ติดตาได้เร็ว ปุ๋ยที่ใช้สำหรับต้นกล้ายางควรเป็นดังนี้                  

  • สำหรับดินร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 3 (16-8-14)
  • สำหรับดินร่วนปนเหนียวใช้ปุ๋ยสูตร 1 (18-10-6) ระยะเวลาในการใส่โดยแบ่งใส่เป็น 4 ครั้ง คือเมื่อยางพารามีอายุ 1 เดือน  2 เดือน  3 เดือน และก่อนติดตา 1 เดือน โดยใช้อัตรา 36 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 15 กรัมต่อช่วงระยะ 1 เมตร ในแถวคู่ ส่วนวิธีการใส่ปุ๋ย  การใส่ปุ๋ยใน 2 ครั้งแรก ใช้วิธีหว่านปุ๋ยเป็นแถบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตรในระหว่างแถวคู่ หลังจากนั้นใช้คราดเกลี่ยดินกลบเพื่อให้ปุ๋ยคลุกเข้ากับดิน และการใส่ปุ๋ยครั้งต่อไป ควรใช้วิธีการหว่านปุ๋ยให้ทั่วแปลงที่จะปลูกโดยระวังไม่ให้ถูกใบอ่อนกล้ายาง

2. การสร้างแปลงกิ่งตา

         ปัจจุบันนิยมวิธีการสร้างแปลงผลิตกิ่งตาสีเขียวมากกว่าสีน้ำตาล เพราะช่วยในการประหยัดต้นทุนการผลิต และสามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ในการเลี้ยงกิ่งตาสีเขียวจะใช้วิธีเลี้ยงกิ่งกระโดงประมาณ 3 ถึง 4 ฉัตร ตัดยอดกระโดงให้แตกกิ่งแขนงตาเขียวออกมาประมาณ 1 ฉัตร ก็สามารถตัดเพื่อนำไปใช้ติดตาได้ หากยังไม่ต้องการใช้อาจจะปล่อยไว้เป็น 2 ฉัตรก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 3 ฉัตร เพราะจะทำให้ลอกแผ่นตาได้ยาก อีกวิธีหนึ่งคือการตัดกิ่งกระโดงตาเขียวและเขียวปนน้ำตาลไปใช้ได้เลย แต่จะได้จำนวนตาน้อยกว่าและจะต้องใช้เวลาในการเสียบกิ่งนานกว่า
ต้นกิ่งตาที่สมบูรณ์มีตั้งแต่ปีที่ 4 ขึ้นไป จะเลี้ยงกิ่งกระโดงได้ 4 กระโดง แต่ละกระโดงจะมีกิ่ง จำนวน 4 ถึง 5 กิ่ง และจะได้กิ่งตาเขียวต้นละ16 ถึง 20 กิ่ง  และสามารถเลี้ยงกิ่งได้ 3 รอบต่อปี  โดยในแต่ละปีจะได้กิ่งตาเขียวประมาณ 48 ถึง 60 กิ่งต่อต้น และในกิ่งตาเขียวที่ยาวประมาณ 1 ฟุต แต่ละท่อนจะได้ตาประมาณ 2 ถึง 3 ตา สำหรับวิธีการปฏิบัติการปลูกสร้างแปลงกิ่งตายางควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

         1. การเลือกพื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่ราบ ดินควรเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี  ระบายน้ำได้ดี ตั้ง อยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่มีไม้ยืนต้นอื่นปะปน

         2. การเตรียมพื้นที่ปลูก พื้นที่ปลูกจะต้องทำการไถพรวนดินและใส่ปุ๋ย  โดยจะปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมพื้นที่ทำแปลงเพาะกล้ายาง จากนั้นก็วางผังแปลงที่จะปลูก และกำหนดพันธุ์ยางพาราที่จะปลูกตามปริมาณของแต่ละพันธุ์ตามความต้องการที่จะปลูก โดยการแบ่งแปลงกิ่งตาออกเป็นแปลงย่อย เว้นระยะห่างแต่ละระยะอย่างชัดเจน เช่น ระยะการปลูกในแต่ละแปลง ควรมีขนาด 1 x 2 เมตร และระยะห่างระหว่างแปลงควรมีระยะห่าง 3 เมตร เป็นต้น

         3. ระยะการปลูก การปลูกสร้างแปลงกิ่งตายางเพื่อผลิตกิ่งตาเขียวใช้ระยะปลูกดังนี้

  • 1 x 2 เมตร            = 800 ต้นต่อไร่
  • 1.25 x 1.50 เมตร   = 853 ต้นต่อไร่
  • 1.50 x 1.50 เมตร   = 711 ต้นต่อไร่
  • 1.25 x 1.25 เมตร   = 1,024 ต้นต่อไร่  

         ระยะปลูกที่นิยมกันมากคือระยะการปลูก 1 x 2 เมตร   เพราะได้กิ่งตาที่สมบูรณ์ และมีความสะดวกในการดูแลรักษา  ส่วนระยะการปลูก 1.25 x 1.25 เมตร  เป็นระยะที่เคยได้รับความนิยม  แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้วเพราะจะทำให้การเลี้ยงกิ่งตาเขียวที่ปลูกเบียดกันแน่นมาก เมื่อกิ่งตาเขียวได้ 2 ฉัตรขึ้นไป  กิ่งตาที่อยู่ด้านล่างจะลอกไม่ค่อยออก   ส่วนการผลิตกิ่งตาสีน้ำตาลหรือกิ่งกระโดงเขียวปนน้ำตาล ใช้ระยะการปลูก 1 x 1 เมตร  1,600 ต้นต่อไร่   สำหรับวิธีการปลูกนั้น   หลังจากทำการปักไม้ชะมบเพื่อกำหนดระยะปลูกแล้วก็จะขุดหลุมข้างไม้ชะมบด้านใดด้านหนึ่ง  และเมื่อทำการปลูกแล้วจะได้ต้นยางเป็นแถวเดียวกัน วิธีการปลูกมีอยู่ 3 วิธีคือ   การปลูกเมล็ดในหลุมแล้วติดตาในแปลง  การปลูกด้วยต้นตอตายาง  และการปลูกด้วยต้นยางชำถุง

         4. การดูแลรักษาการใส่ปุ๋ยในช่วงแรกจะใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต อัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ 25 กรัมต่อหลุม ผสมกับดินที่ใส่รองก้นหลุม  ส่วนการใส่ปุ๋ยในแปลงกิ่งตา ควรใช้ปุ๋ยยางอ่อนสูตร 1 สำหรับดินเหนียว หรือสูตร 3 สำหรับดินร่วนหรืออาจใช้ปุ๋ย 15-15-6-4  หรือ 15-15-15 แทน  และแบ่งใส่ปุ๋ย จำนวน 4 ครั้งต่อปี ครั้งละ 36 กิโลกรัมต่อไร่ โดยวิธีหว่านรอบโคนต้น

         5. การตัดแต่งเพื่อเลี้ยงกิ่งตายาง หลังจากปลูกจนต้นยางมีความสูจากพื้นประมาณ 1 เมตร หรือต้นมีเปลือกสีน้ำตาล หรือมีอายุประมาณ 1 ปี จะตัดกิ่งตาทั้งกระโดงไปใช้ได้เลย แต่หากจะเลี้ยงเป็นกิ่งตาเขียว ให้ตัดยอดฉัตรกิ่งบนสุดทิ้งไป (ตัดเลี้ยงครั้งที่ 1)  จากนั้นปล่อยให้มีการแตกกิ่งแขนงออกมาบริเวณฉัตรยอด เลี้ยงไว้ จำนวน  3 ถึง 4 กิ่ง เมื่อกิ่งยอดฉัตรแก่แล้วก็สามารถตัดไปใช้ได้  และขณะเดียวกันก็ทำการตัดเลี้ยงเป็นครั้งที่ 2  ในแต่ละปี จะตัดเลี้ยงกิ่งตาได้ จำนวน 3 ครั้ง เมื่อหมดฤดูกาลติดตาแล้วจะตัดต้นล้างแปลง โดยให้เหลือกิ่งกระโดง  จำนวน 1 ถึง 2 กระโดง  มีความสูงจากพื้นดิน ประมาณ  75 เซนติเมตร เพื่อเลี้ยงกิ่งกระโดงไว้ผลิตกิ่งตาเขียวในปีที่ 2 เมื่อเลี้ยงกิ่งกระโดงได้  จำนวน 3 ถึง 4 ฉัตร   ก็ให้ปฏิบัติเหมือนกับการตัดแต่งกิ่งในปีที่ 1 อีก  และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 3  ต้นกิ่งตาจะเลี้ยงกิ่งกระโดง และในปีที่ 4 ต้นกิ่งตาจะเลี้ยงกิ่งได้ถึง 4 กระโดง

 

3. วิธีการติดตาเขียว
การติดตาเขียวจะได้ผลสำเร็จสูงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่
         1. ต้นกล้ายางจะต้องมีความสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุประมาณ 4 ½ ถึง 8 เดือน  ขนาดของลำต้นมีเส้น ผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1 เซนติเมตร วัดจากระดับสูงจากพื้นดิน 10 เซนติเมตร มีลำต้นตั้งตรง โคนรากไม่คดงอและลอกเปลือกได้ง่าย
         2. กิ่งตาเขียว กิ่งที่ได้จากแปลงกิ่งตายาง ซึ่งได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นพันธุ์ยางพาราที่ถูกต้อง กิ่งตาเขียวที่สมบูรณ์จะต้องมีอายุ 42 ถึง 49 วัน  ลอกเปลือกได้ง่าย ไม่เปราะหรือมีเสี้ยนติดเนื้อไม้
         3. ความชำนาญในการติดตา  วิธีการติดตาเขียวสามารถฝึกหัดได้ง่าย  ผู้ที่มีความชำนาญแล้วจะได้รับผลสำเร็จสูงกว่าร้อยละ 90 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดยทั่วไปผู้ที่มีความชำนาญจะสามารถติดตาได้ประมาณ 300 ต้นต่อวัน
         4. ฤดูกาล ควรเป็นต้นฤดูฝนไปจนถึงกลางฤดูฝน   ส่วนปลายฤดูฝนไม่ควรทำการติดตาเพราะเมื่อตัดต้นเพื่อให้กิ่งตาผลิออกมาก็จะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง  ซึ่งจะทำให้ต้นยางพาราตายได้ แต่หากติดตาแล้วถอนนำไปชำไว้ในถุงพลาสติกก็สามารถปฏิบัติได้  และหากในแปลงกล้ายางมีการรดน้ำตลอดทุกวัน ก็จะสามารถติดตาได้ตลอดทั้งปี
         5. วัสดุอุปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการติดตา  ได้แก่

  • กรรไกรตัดกิ่งตา
  • ถุงพลาสติกใส่กิ่งตา
  • แถบพลาสติกใส  ขนาดกว้าง 5/8 นิ้ว หนา 0.05 มิลลิเมตร
  • หินลับมีด
  • เศษผ้าสำหรับทำความสะอาดต้นยางพารา

วิธีปฏิบัติ

         1. เลือกต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ ทำความสะอาดโคนต้นกล้าด้วยเศษผ้า โดยการเช็ดสิ่งสกปรกและทรายออกต้นกล้า

         2. เปิดรอยกรีดโดยใช้ปลายมีดกรีดตามความยาวลำต้น จำนวน 2 รอย ความยาว 7 ถึง 8 เซนติเมตร ห่างกันประมาณ 1 เซนติเมตร ให้ส่วนล่างของรอยกรีดสูงจากพื้นดิน ประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร แล้วใช้มีดกรีดเป็นแนวขวางกับรอยกรีดโดยให้ด้านบนให้เชื่อมติดกัน แล้วใช้ปลายมีดหรือด้ามงาบแคะเปลือกบริเวณมุมแล้วลอกเปลือกลงข้างล่างจนสุด จากนั้นตัดเปลือกที่ดึงออกให้เหลือเป็นลักษณะของลิ้นสั้นๆ ความยาวประมาณ 1 ถึง 1½  เซนติเมตร

         3. เตรียมแผ่นตาที่ได้จากกิ่งตาเขียว ใช้มีดคมเฉือนออกอย่างเบามือ โดยเริ่มจากด้านปลายไปยังด้านโคนโดยให้ติดเนื้อไม้บางๆ  อย่างสม่ำเสมอตลอดแนวยาว  ความยาวประมาณ 8 ถึง 9 เซนติเมตร  และให้มีตาอยู่ตรงกลางแผ่น  ความกว้างของแผ่นตากะประมาณให้พอดีกับความกว้างของรอยแผล  และเปิดเปลือกบนต้นกล้า  หากการเฉือนแผ่นตาหนาให้มีความหนามากเกินไปจะทำให้ลอกออกยาก  เนื่องจากแผ่นตาเขียวช้ำได้ง่าย ดังนั้นก่อนก่อนเฉือนแผ่นตาต้องแน่ใจว่ามีดคมและสะอาดพอ

         4. แต่งแผ่นตาทั้ง 2 ข้างให้มีลักษณะบางๆ ขนาดพอให้แผ่นตาเข้ากับรอยเปิดกรีดบนต้นตอ  จากนั้นก็ตัดปลายด้านล่างออก

         5. ลอกแผ่นตาออกจากเนื้อไม้  โดยการใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างจับปลายด้านบนของแผ่นตา  ใช้นิ้วกลางประคองแผ่นตาส่วนล่างแล้วค่อยๆ ลอกเนื้อไม้ออกจากเปลือกแผ่นตา โดยพยายามอย่าให้ส่วนที่เป็นเปลือกโค้งงอ   หรืออีกวิธีหนึ่งใช้การลอกด้วยปากโดยใช้มือข้างหนึ่งจับแผ่นตาไว้  แล้วหันด้านปลายแผ่นตาที่ยังไม่ตัดเข้าหาปาก  ใช้ฟันยึดส่วนที่เป็นเนื้อไม้แล้วใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้ของมืออีกข้างหนึ่งจับเปลือกด้านล่างไว้  แล้วค่อยๆ ลอกเนื้อไม้ออกจากเปลือกแผ่นตา   พยายามไม่ให้เปลือกโค้งงอเช่นกัน  ตรวจดูแผ่นตาที่ลอกเสร็จ  หากแผ่นตาซ้ำหรือจุดเยื่อเจริญหลุดหรือแหว่งหรือไม่สมบูรณ์ก็ให้ทิ้งไป  ใช้เฉพาะแผ่นตาที่สมบูรณ์เท่านั้น

         6. สอดแผ่นตาที่ลอกเนื้อไม้ออกแล้วนี้ใส่ลงในลิ้นเปลือกต้นตอเบาๆ อย่างรวดเร็ว  และในขณะที่ใส่ระวังอย่าให้แผ่นตาถูกเนื้อไม้   เพราะจะทำให้แผ่นตาและเยื่อราเกิดอาการช้ำได้ และตัดส่วนของแผ่นตาที่เกินอยู่ข้างบนทิ้งหรือจะทิ้งไว้ เพื่อรอตัดออกในขณะที่พันผ้าพลาสติกก็ได้

         7. พันแผ่นตาด้วยแผ่นพลาสติกใส  ขนาดความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร  โดยพันจากด้านล่างขึ้นข้างบนให้แผ่นตาแนบกับแผลรอยเปิดของต้นกล้า   และให้ขอบพลาสติกทับกันสูงขึ้นไปจนเหนือรอยตัดตา 2 ถึง 3 รอบ  ผูกพลาสติกให้แน่นโดยการสอดปลายเข้าไปในพลาสติกรอบสุดท้ายแล้วดึงให้แน่น

         8. ตรวจสอบความเรียบร้อยพร้อมทั้งปักป้ายแสดงวันที่ติดตา ชื่อพันธุ์ยางพาราและจำนวนต้น หลังจากนั้นอีก 21 วัน  ให้ตรวจดูความเจริญเติบโต   หากแผ่นตายังคงมีสีเขียวแสดงว่าการติดตาประสบผลสำเร็จ  ให้ใช้มีดกรีดพลาสติกบริเวณด้านตรงข้ามเพื่อไม่ให้พลาสติกหลุดออกจากแผ่นตา  แต่หากแผ่นตาเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล  แสดงว่าการติดตาไม่ประสบผลสำเร็จ   ให้ใช้มีดกรีดพลาสติกด้านหลังออกเพื่อทำการติดตาซ้ำหลังจากตรวจผลสำเร็จและเมื่อนำพลาสติกออกแล้ว  ปล่อยให้ต้นที่ติดตาอยู่ในแปลงไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ก่อนที่จะถอนไปปลูกหรือตัดต้นยางพาราทีมีอยู่เดิมทิ้ง


ข้อควรระวังในการติดตา
1. ไม่ควรติดตาในเวลาที่มีอากาศร้อนจัด
2. การนำกิ่งตาไปติดตาแต่ละครั้ง  มีจำนวนไม่เกินกว่า 30 กิ่ง
3. เลือกติดตาเฉพาะต้นตอที่มีความสมบูรณ์
4. มีดที่จะทำการติดตาจะต้องคมอยู่เสมอ
5. อย่าให้แผ่นตาช้ำหรือปล่อยให้น้ำเลี้ยงแห้ง
6. พันแผ่นตาให้แน่นอย่าให้น้ำเข้าไปได้