สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้แนะนำพันธุ์ยางพาราที่ควรปลูกในภาคใต้ ดังนี้
ภาคใต้เขตฝั่งตะวันตก ได้แก่ จังหวัดระนอง ภูเก็ต พังงา ส่วนใหญ่ของจังหวัดกระบี่ ตอนเหนือของจังหวัดตรัง และทางตอนใต้ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 2,000 ถึง 5,000 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 161 ถึง 227 วันต่อปี อาจจะมีลมแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อต้นยางพาราในบางพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเลือกพันธุ์ยางพาราเพื่อปลูกในเขตนี้ คือโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา โรคเส้นดำ และโรคใบจุดนูน ที่โดยส่วนใหญ่เกิดกับต้นยางพาราอายุน้อย
พันธุ์ยางที่แนะนำ
กลุ่ม 1 สถาบันวิจัยยาง 251 สถาบันวิจัยยาง 226 BPM 24
กลุ่ม 2 PB 235 PB 260 RRIC 110
ภาคใต้เขตตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดชุมพร พื้นที่ทางด้านตะวันออกและส่วนกลางของจังหวัด
สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านตะวันออกของจังหวัดกระบี่ ตรัง (ยกเว้นทางตอนเหนือ) พัทลุง และจังหวัดสงขลา (ยกเว้นบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย) พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝน ระหว่าง 1,800 ถึง 2,600 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 159 ถึง 174 วันต่อปี เป็นเขตที่ไม่มีข้อจำกัดในการเลือกพันธุ์ยางพารา สามารถปลูกได้ทุกพันธุ์ที่แนะนำ
ภาคใต้เขตตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (ยกเว้นบริเวณที่อยู่ติดเขตชายแดนของประเทศมาเลเซีย) พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝน ระหว่าง 2,000 ถึง 3,000 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 159 ถึง 174 วันต่อปี เขตนี้อาจมีปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา โรคเส้นดำ และโรคจุดนูนในบางปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก และบางพื้นที่ในจังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสอาจมีปัญหาเนื่องจากสภาพลมแรง
พันธุ์ยางที่แนะนำ
กลุ่ม 1 สถาบันวิจัยยาง 251 สถาบันวิจัยยาง 226 BPM 24
กลุ่ม 2 PB 235 PB 260
หมายเหตุ: บางพื้นที่ในจังหวัดยะลาและนราธิวาสที่มีลมแรงไม่ควรปลูกยางพาราพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251
ภาคใต้เขตชายแดน ได้แก่ จังหวัดสตูล บางส่วนของจังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส และบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 2,500 ถึง 3,000 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 165 ถึง 175 วันต่อปี มีการระบาดของโรคราสีชมพู โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทราและโรคเส้นดำ
พันธุ์ยางที่แนะนำ
กลุ่ม 1 สถาบันวิจัยยาง 251 BPM 24 RRIC 110
กลุ่ม 2 PB 260
หมายเหตุ: พื้นที่ปลูกจังหวัดยะลาและนราธิวาสที่มีลมแรงไม่ควรปลูกยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 และ RRIC 110
ภาคใต้ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการปลูกยางพารามากกว่าภาคอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น ดิน ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ความเร็วลม และต้นยางพาราในภาคใต้เปิดกรีดได้เร็วกว่าภาคอื่นๆ ประมาณ 6 เดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วการให้ผลผลิตยางพาราของภาคใต้ให้ผลผลิตมากสุด ทั้งนี้พบว่าการให้ผลผลิตของต้นยางพาราไม่ว่าผลผลิตน้ำยางและหรือเนื้อไม้ขึ้นอยู่กับ 3 ประการ คือ พันธุ์ยาง ความเหมาะสมของพื้นที่ และการจัดการสวนยางพารา เพราะฉะนั้นในการปลูกสร้างสวนยางพารา นอกจากจะพิจารณาเลือกพันธุ์ยาง และการจัดการสวนยางพาราที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่สำหรับปลูกยางพาราด้วย โดยพิจารณาจากปัจจัยดินและปัจจัยทางอากาศ ดังนี้ (ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ปัจจัยทางดิน
- เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกิน 35 องศา ถ้าความลาดชันเกินกว่า 15 องศา จำเป็นต้องทำขั้นบันได
- หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีการระบายน้ำดี ไม่มีชั้นหิน หรือชั้นดินดาน
- ระบายน้ำใต้ดินต่ำกว่าระดับผิวดินมากกว่า 1 เมตร
- เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงร่วนทราย ไม่เป็นดินเกลือหรือดินเค็ม
- ไม่เป็นพื้นที่นาหรือที่ลุ่มน้ำขัง สีของดินควรมีสีสม่ำเสมอตลอดหน้าตัดดิน
- ดินไม่มีชั้นกรวดอัดแน่นหรือหินแข็งในระดับสูงกว่า 1 เมตร เพราะจะทำให้ต้นยางไม่สามารถใช้น้ำในระดับรากแขนงในฤดูแล้งได้ และหากช่วงแล้งยาวนานจะมีผลทำให้ต้นยางตายจากยอด
- ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร หากสูงเกินกว่านี้อัตราการเจริญเติบโตของต้นยางพาราจะลดลง
- ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ระหว่าง 4.5-5.5 ไม่เป็นดินด่าง
ปัจจัยทางภูมิอากาศ
- ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,250 มิลลิเมตรต่อปี
- มีจำนวนฝนตก 120 ถึง 150 วันต่อปี
|